อาการลองโควิด
ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post Covid-19 Syndrome คือ ภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ เชื้อโควิดหายจากร่างกายไปแล้ว แต่บางอาการกลับไม่หายไปด้วย
อาการลองโควิดจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน เป็นอาการที่ไม่มีลักษณะตายตัว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด
ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม ซึ่งอาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง
กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นภาวะ Long COVID
ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง
ผู้ที่มีโรคประจำตัว
ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน
เพศหญิงมีความเสี่ยงกว่าเพศชาย
อาการที่พบบ่อยหลังการติดเชื้อโควิด-19
เหนื่อยง่าย
หายใจไม่อิ่ม
อ่อนเพลีย
ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ
กล้ามเนื้อไม่มีแรง
ไอเรื้อรัง
การรับรสและได้กลิ่นผิดปกติ
รู้สึกเหมือนมีไข้
ปวดศีรษะ มึนศีรษะ
นอนไม่หลับ
ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ
มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด
ใจสั่น แน่นหน้าอก
ท้องเสีย ท้องอืด
สาเหตุที่เกิด Long COVID
ภาวะลองโควิดยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดแต่สามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายและจิตใจของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ได้ จึงแนะนำให้หมั่นสังเกตและประเมินร่างกายตัวเองอยู่เสมอหลังจากหายป่วย
หากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจประเมินสภาพร่างกาย รับการรักษาและวางแผน การฟื้นฟูร่างกายที่เหมาะสม เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นระยะยาวและส่งผลกระทบต่อชีวิต ประจำวัน และหากปล่อยไว้นานก็อาจเป็นอันตรายได้
ผู้ที่หายจากโควิด-19 นอกจากการหมั่นสังเกตความผิดปกติแล้ว การตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยให้รู้ทันความผิดปกติที่เกิดขึ้นและสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
โดยแพทย์จะพิจารณาอาการต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น
1. อาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการนอนโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานาน เช่น อาการจิตตก ซึมเศร้า ติดเตียง แผลกดทับ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ
2. อาการเกิดจากผลแทรกซ้อนที่ได้รับจากยาขณะเข้ารับการรักษาโควิด-19 ส่วนใหญ่ยารักษาโรคโควิด-19 มักจะไม่พบผลแทรกซ้อนในระยะยาว เนื่องจากผู้ป่วยจะได้รับยาในระยะสั้น ๆ แต่อาจสามารถพบได้กับยาที่รักษาอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างรักษาโควิด-19 เช่น ยากลุ่ม สเตียรอยด์ อาการที่อาจพบได้หลังกลับบ้าน เช่น แสบกระเพาะ รู้สึกเหมือนมีอาการกรดไหลย้อน ค่าน้ำตาลไม่คงที่ หรือมีอาการทางเบาหวาน
3. อาการที่เกิดจากผลแทรกซ้อนของโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้ในระยะ 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง แบ่งออกเป็น
กลุ่มที่มีอาการต่อเนื่อง มาตรวจและไม่พบความผิดปกติ เช่น หอบเหนื่อย เพลีย รู้สึกเหมือนร่างกายยังไม่ฟื้น การรักษา จะรักษาตามอาการ รอจนร่างกายปรับและฟื้นตัว
กลุ่มที่มีอาการต่อเนื่อง มาตรวจและพบความผิดปกติ เช่น พบผังผืดที่ปอด หรือพบความผิดปกติที่ปอด เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน พบความผิดเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ภาวะติดเชื้อ เกิดการอักเสบภายในอวัยวะสำคัญ ซึ่งพบได้น้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ การรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
กลุ่มที่ไม่มีอาการ แต่ตรวจพบอาการผิดปกติที่ปอด การรักษาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (SARS-CoV-2) และป้องกันการพัฒนาไปสู่ภาวะอาการ Long COVID คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งเรารู้ดีว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ช่วยลดการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและลดอัตราการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากาก, เว้นระยะห่างทางกายภาพ ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ไปในพื้นที่ที่แออัด หรือแหล่งชุมชน
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล, โรงพยาบาลรามคำแหง,โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล หนองแขม