โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)
โรคฝีดาษลิง โรคนี้พบมากในแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก พบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ติดเชื้อ
โรคฝีดาษลิง ไม่ใช่โรคใหม่แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี เชื้อไวรัสฝีดาษลิงพบได้ในสัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้
อย่างไรก็ตามโรคฝีดาษลิง สามารถป้องกันได้โดยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคอยู่ห้องแยก สวมหน้ากากอนามัย และใส่เสื้อคลุมปกปิดผื่นทั้งหมด จนผื่นหายดีและตกสะเก็ด
โรคฝีดาษอันตรายแค่ไหน
ผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง บางครั้งคล้ายกับอาการของโรคอีสุกอีใส และหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ ฝีดาษลิงอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ในบางกรณี และเคยมีรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตมาแล้วหลายคนในแอฟริกาตะวันตก โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ในกลุ่มเด็กเล็กสูงถึง 10%
เชื้อฝีดาษลิงติดต่อกันอย่างไร
ฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายได้เมื่อมีการเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือผ่านทางตา จมูก หรือปาก โดยคนสามารถติดเชื้อโรคนี้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ติดเชื้อกัด หรือจากการกินเนื้อสัตว์มีเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิด แต่มีโอกาสน้อยมากในการแพร่เชื้อจากคนสู่คน นอกจากนี้เชื้อโรคนี้ยังแพร่กระจายด้วยการสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ อย่างผู้ปูที่นอน เสื้อผ้า
อาการของโรค
ระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน
อาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนในหน้าและลำตัว
ระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดมา อาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์
การรักษา
ขณะนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาฝีดาษลิง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วยการป้องกันการติดเชื้อ หรือรับวัคซีนไข้ทรพิษซึ่งสามารถป้องกันได้ 85% ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการได้รับวัคซีนหลังจากสัมผัสกับเชื้ออาจช่วยป้องกันโรคนี้ได้ หรือทำให้มีความรุนแรงลดลง
วิธีป้องกัน
เลี่ยงสัมผัสโดยตรง เลือด สารคัดหลั่ง ตุ่มหนองของสัตว์
กินเนื้อสัตว์ปรุงสุก
หมั่นล้างมือบ่อยๆ
ไม่ควรนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง
ที่มา : โรงพยาบาลบางปะกอก