ออฟฟิศซินโดรม

 
 
 

ออฟฟิศซินโดรม คือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด รวมถึงอาการปวดหรือชาจากอาการอักเสบจากเนื้อเยื่อและเอ็น มักเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศหรือทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์และมือถือเป็นประจำ

สาเหตุการเกิดออฟฟิศซินโดรม

การนั่งทำงานต่อเนื่องกับคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนท่าทางหรืออริยาบท การนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ การนั่งตัวงอ หรือการก้มหน้านาน ๆ เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานซ้ำ ๆ มีการหดเกร็ง หรือยืดค้างในรูปแบบเดิมบ่อย ๆ จนกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ เกิดการบาดเจ็บ หรืออาจขมวดเป็นก้อนตึง และเกิดอาการปวดตามมา

อาการของโรคออฟฟิศซินโดรม

  • ปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด: เป็นกลุ่มอาการยอดฮิตของออฟฟิศซินโดรม โดยจะเริ่มจากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก ส่วนหลัง และสะโพก และมักจะเป็นเรื้อรังไม่หายขาด

  • อาการปวดหัวเรื้อรัง: อาการปวดหัวเรื้อรัง หรือบางทีมีอาการปวดหัวไมเกรนร่วมด้วย สาเหตุเกิดจากความเครียดในการทำงาน หรือการใช้สายตาในการทำงานเป็นเวลานาน เช่น การอ่านเอกสาร การใช้สายตาจ้องหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน แสงบริเวณโต๊ะทำงานไม่เพียงพอ หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อมในวันที่ทำงานที่วุ่นวาย ไม่สงบ อาจจะทำให้คุณเกิดความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว

  • นิ้วล็อค ปวดแขน มือชา: สาเหตุของอาการนี้เกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นข้อมือ เส้นเอ็นนิ้วมือ ซึ่งมาจากการที่เราใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ในการจับเมาส์ พิมพ์เอกสารในท่าเดิมๆเป็นเวลานานๆ จึงทำให้กล้ามเนื้อกดทับเส้นประสาทจนเกิดพังผืดยึดจับบริเวณนั้นจึงเป็นจำนวนมาก ทำให้ปวดปลายประสาท นิ้วล็อค หรือข้อมือล็อคได้

  • อาการปวด ตึงที่ขา หรือเหน็บชา: ลองสังเกตอาการนี้ง่ายๆ ว่าคุณเป็นเหน็บชาบ่อยหรือเปล่า หรืออยู่ดีๆขาไม่มีแรง อาการเหล่านี้เกิดจากการนั่งทำงานนานๆทำให้เส้นเลือดดำถูกกดทับและส่งผลให้เลือดไหลเวียนผิดปกติจึงเกิดอาการเหน็บชาได้ง่าย หากมีอาการแต่ไม่รีบรักษาปล่อยไว้ในระยะเวลานาน อาจเกิดอาการชาลามไปถึงเท้า ขาไร้เรี่ยวแรงแล้วล่ะก็ การเดินของท่านอาจจะถึงขั้นทรุด เดินไม่ได้เลยก็เป็นได้

  • อาการตาแห้ง: เกิดจากต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ โดยสาเหตุอาจมาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือนานเกินไป

วิธีหลีกเลี่ยงอาการ Office Syndrome ง่ายๆ เพียงแค่ในวันการทำงาน ควรแบ่งเวลาในการพักผ่อนบ้าง หรือระหว่างทำงานก็ควรยืดเส้นยืดสาย กายบริหารด้วยท่าง่ายๆ ที่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลุกเดินบ้าง ออกไปสูดอากาศนอกห้องบ้าง ถือเป็นการพักสายตาไปในตัวได้ด้วย จัดระเบียบห้องให้โล่งสดใสบ้าง ผ่อนคลายปรับเก้าอี้ ปรับการวางคอมพิวเตอร์ดูว่าเหมาะสมหรือเปล่า พอดีกับเราไหม อาการที่กล่าวมาข้างต้นก็จะไม่เกิดขึ้นกับคุณแน่นอน