รู้เท่าทัน... ไวรัสตับอักเสบบี
โรคตับอักเสบบี คืออะไร
ตับอักเสบบี คือ การอักเสบของเซลล์ตับ อันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) การอักเสบจะทำให้เชลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับได้
ไวรัสตับอักเสบ ติดต่อกันอย่างไร
การติดเชื้อที่พบบ่อย คือการถ่ายทอดจากมารดาที่ติดเชื้อสู่ทารก แต่ในปัจจุบันจะลดลงมาก เพราะการฉีดวัคซีนให้ทารกที่คลอดมาจะช่วยป้องกันได้เกือบร้อยละ 100 ดังนั้นการติดต่อที่สำคัญในปัจจุบัน คือทางเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ โดยไม่ได้ป้องกัน ซึ่งไวรัสตับอักเสบบี สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อไวรัสเอดส์ การสัก เจาะ หรือการฝังเข็ม โดยอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อไม่ถูกต้อง การได้รับเลือด และส่วนประกอบของเลือดที่ไม่จำเป็น ก็อาจเป็นสาเหตุได้ แต่พบได้น้อยมากในการตรวจกรองของธนาคารเลือดในปัจจุบัน
หากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะมีอาการอย่างไร
อาการอ่อนเพลียคล้ายเป็นหวัด
คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักลด
จุกแน่นใต้ชายโครงขวาจากตับโต
ปัสสาวะเข้ม ตาเหลือง
อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นในเวลา 2-3 สัปดาห์ และร่างกายจะค่อยๆ กำจัดไวรัสตับอักเสบบีออกไปพร้อมๆ กับการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีช้ำอีก ผู้ป่วยร้อยละ 5-10 อาจโชคไม่ดี ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ เกิดการติดเชื้อเรื้อรัง โดยเฉพาะหากได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ผู้ป่วยบางรายจะมีอักเสบของตับร่วมด้วย ซึ่งหากมีการอักเสบตลอดเวลาจะทำให้มีการตายของเซลล์ตับเกิดมีพังผืดเพิ่มมากขึ้นจนเป็นตับแข็งในที่สุด ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งกลายเป็นมะเร็งตับซ้ำเติม
แพทย์สามารถวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบบี ได้อย่างไร
การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ ในปัจจุบันทำได้ง่ายมาก เพียงตรวจเลือดในปริมาณเล็กน้อย เพื่อหาเปลือกของไวรัส (HBsAg) ก็จะทราบได้ว่าท่านมีไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งแพทย์อาจตรวจหาหลักฐานว่ามีตับอักเสบหรือไม่ โดยการตรวจระดับเอนไซม์ของตับ (AST/ALT) โดยในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบเรื้อรังแพทย์อาจนัดตรวจ 1-2 ครั้ง ในเวลาห่างกันทุกๆ 1-2 เดือน ก็จะทราบได้ว่าท่านมีตับอักเสบเรื้อรังหรือไม่ นอกจากนั้นแพทย์อาจตรวจปริมาณไวรัสโดยทางอ้อมด้วยการตรวจ HBeAg หรือตรวจนับไวรัสในเลือดโดยตรง เพื่อประเมินปริมาณของไวรัส ก่อนการรักษา แพทย์อาจจะตรวจชิ้นเนื้อตับโดยใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนัง หลังจากฉีดยาชาซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อนี้จะให้ข้อมูลที่สำคัญอย่างมาก เกี่ยวกับการอักเสบของตับ
5 ข้อลดเสี่ยงโรคตับอักเสบบี
1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมัน
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่หักโหม
3. ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้น
4. อัลตราชาวนด์ และตรวจสุขภาพประจำปี
5. งดอาหารที่มีสารอัลฟาท็อกชิน เช่น ในถั่วลิสง พริกปัน เป็นต้น
การป้องกัน
ไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน โดยแนะนำสำหรับ
ผู้ที่ตรวจเลือดแล้วไม่พบว่าติดเชื้อมาก่อน
ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้
ผู้ป่วยไตวายที่ต้องฟอกไต
ผู้ที่อาจมีภูมิต้านทานบกพร่องในอนาคต
ที่มา : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์