อาการปวดท้องประจำเดือน

 
 
 

ปวดประจำเดือน

          เป็นอาการที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องพบเจอ โดยลักษณะทั่วไปของอาการปวดประจำเดือนนั้น มักจะเป็นการปวดท้องน้อยที่ไม่รุนแรงซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่ก็มีบางรายที่มีอาการปวดรุนแรงจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

 

อาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อย

          อาการปวดท้องประจำเดือนเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน 1-2 วัน หรือในช่วงวันแรกๆ ของการประจำเดือน ไปจนหลังมีประจำเดือนแล้ว โดยลักษณะอาการปวดมีตั้งแต่ปวดบีบ ปวดหน่วง ปวดเกร็ง ปวดท้องน้อยรุนแรง ปวดร้าวหลังด้านล่างและหน้าขา หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก เวียนศีรษะ และเหงื่อออก เป็นต้น

 ประเภทของอาการปวดท้องประจำเดือน ดังนี้

          1. Dysmenorrhea หรือ การปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดท้องประจำเดือนที่เกิดขึ้นโดยไม่มีโรคหรือความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์มาเกี่ยวข้อง สาเหตุหลักของอาการปวดแบบนี้ เกิดจากการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกที่มากกว่าปกติ เนื่องจากในช่วงที่มีประจำเดือน ร่างกายจะผลิตสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ที่จะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก เพื่อช่วยในการลอกตัวของเยื่อบุมดลูก เมื่อระดับโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) สูง การบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกก็จะรุนแรงขึ้น และทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นได้

          2. Dysmenorrhea หรือ การปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) เป็นอาการปวดท้องประจำเดือนที่เกิดจากโรค หรือความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตอยู่นอกมดลูก เช่น ที่รังไข่ ท่อนำไข่ หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งเยื่อบุเหล่านี้ตอบสนองต่อฮอร์โมนประจำเดือนเช่นเดียวกับเยื่อบุภายในมดลูก จึงทำให้เกิดอาการปวดและอักเสบได้เช่นกัน

  • ซีสต์ในรังไข่ (Ovarian Cysts) ซีสต์ในรังไข่เป็นถุงน้ำที่เติบโตในรังไข่ สามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยโดยเฉพาะในช่วงมีรอบเดือน

  • เนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids) เนื้องอกมดลูกเป็นเนื้องอกชนิดไม่ใช่มะเร็งที่เติบโตในมดลูก สามารถทำให้เกิดอาการปวดและความไม่สบายตัวในช่วงมีรอบเดือน

  • ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease – PID) ภาวะอักเสบในอุ้งเชิงกรานเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่แพร่กระจายจากช่องคลอดเข้าสู่อวัยวะสืบพันธุ์ภายใน ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง

  • การใช้ห่วงอนามัย (Intrauterine Device – IUD) การใช้ห่วงอนามัยบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนได้

 

วิธีการลดอาการปวดประจำเดือน

  • การทานยาแก้ปวด: เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด

  • การใช้กระเป๋าน้ำร้อน: ความร้อนจากกระเป๋าน้ำร้อนที่ว่างไว้บนหน้าท้อง จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้

  • การออกกำลังกาย: การออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยลดการหดตัวของมดลูก ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้

  • การดูแลสุขภาพจิต: การทำสมาธิ และการนวดระยะสั้นอาจช่วยลดความเครียด และเพิ่มความผ่อนคลาย ทำให้ลดความเจ็บปวดลงได้

  • การปรึกษาแพทย์: หากอาการปวดไม่ดีขึ้น หรือรุนแรงขึ้นในแต่ละเดือน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจ วินิจฉัย และรักษาให้ตรงจุด

 

          ทั้งนี้ หากมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง มีอาการปวดประจำเดือนเฉพาะจุด หรือเริ่มมีอาการเปลี่ยนไปในทางที่รุนแรงขึ้น มีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง ประจำเดือนมาเยอะและมานานกว่า 7 วัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจ วินิจฉัย และรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

          ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท