หลอดเลือดขอด รักษาอย่างไร?
หลอดเลือดขอด พบในคนวัยกลางคนขึ้นไป พบในหญิงมากกว่าชาย 3 เท่า ปัจจัยความเสี่ยงเกิดจากพฤติกรรมการประกอบกิจวัตรประจำวัน และการประกอบอาชีพ ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว การปรับพฤติกรรมในวัยทำงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันหลอดเลือดขอด
ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดขอด มีดังนี้
1. ผิวหนังบริเวณหลอดเลือดขอดแตกกลายเป็นแผลเรื้อรัง เนื่องจากเลือดมาเลี้ยงผิวหนังน้อยลง และเกิดการอักเสบของหลอดเลือดดำ
2. เลือดออกง่ายกว่าปกติ เมื่อได้รับบาดเจ็บ แม้เป็นการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง
แนวทางการรักษา “หลอดเลือดขอด”
1. สวมใส่ถุงน่องป้องกันหลอดเลือดขอด ซึ่งต้องสวมยาวจากเท้าถึงโคนขา ถุงน่องที่ดีจะมีแรงดัน 20-30 มม.ปรอท ควรสวมใส่ถุงน่องเมื่อยืนหรือนั่งนานๆ
2. ยกขาสูงกว่าระดับหัวใจ วันละ 3-4 ครั้งๆ ละ 10-15 นาที
3. การฉีดยาเข้าหลอดเลือดขอด ทำให้หลอดเลือดฝ่อหรือยุบตัว ซึ่งเหมาะสำหรับคนไข้ที่เป็นหลอดเลือดขอดขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มม. ซึ่งอาจต้องฉีดซ้ำเป็นระยะ
4. การรักษาด้วยเลเซอร์ ซึ่งมีหลายเทคนิค ขึ้นกับขนาดของหลอดเลือดขอดว่าเล็กหรือใหญ่ เลเซอร์จะทำลายหลอดเลือดขอด
5. การผ่าตัด ใช้สำหรับคนไข้ที่เป็นหลอดเลือดขอดขนาดใหญ่ การผ่าตัดเพื่อเลาะเอาหลอดเลือดขอดออก
ป้องกันตัวเองอย่างไร ไม่ให้เป็นหลอดเลือดขอด
1. ควบคุมน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วน โดยการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย
2. ไม่ใส่กางเกงที่รัดเอว เชิงกราน หรือขา ไม่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ
3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การปฏิบัติกิจวัตรหรือการงานที่ต้องยืนหรือนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ถ้าจะให้ดีควรลุกขึ้นเดินทุกชั่วโมง
4. หาโอกาสยกขาสูงกว่าระดับหัวใจ เช่น นอนหนุนขาบนหมอน หรือเวลาพัก ยกขาพาดเก้าอี้เป็นครั้งคราว ดีกว่านั่งห้อยเท้าตลอดเวลา
5. การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เพื่อสร้างความแข็งแรงแก่ระบบหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปสู่ทุกส่วนของร่างกาย
6. การบริหาร โดยการเคลื่อนไหวเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า เป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อ ให้มีแรงดันจากหลอดเลือดดำกลับเข้าสู่หัวใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การบริหารนี้ สามารถทำได้ตลอดเวลา แม้แต่ในขณะปฏิบัติกิจวัตรและทำงาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ