กินป้องกัน กระดูกพรุน
คนเรามีอายุมากขึ้นอาจมีปัญหาเรื่องตัวเตี้ยลง หลังค่อมจนเงยไม่ขึ้น ขาโก่งงอ หรือกระดูกหักง่าย ต้องระวังไม่ให้หกล้ม อาการเหล่านี้เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากภาวะกระดูกพรุน คงไม่มีใครอยากมีอาการเช่นนี้ การหลีกปัญหากระดูกพรุน ทุกคนควรระมัดระวังพฤติกรรมต่างๆ ดังนี้
1. ระวังไม่กินอาหารประเภทโปรตีนหรือเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะการกินโปรตีนมากเกินไปจะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากผิดปกติ
2. ระวังไม่กินอาหารเค็มจัดหรือมีโซเดียมมาก เพราะเกลือโซเดียมที่มากเกินจะทำให้การดูดซึมของแคลเซียมจากลำไส้ลดลง ร่างกายจึงไม่สามารถนำแคลเซียมมาใช้ได้ และยังทำให้การสูญเสียแคลเซียมทางไตมากขึ้นด้วย
3. ไม่ควรดื่มน้ำอัดลมในปริมาณมาก เพราะในน้ำอัดลมมีส่วนผสมที่ชื่อ "กรดฟอสฟอริก" ที่ทำให้เกิดฟองฟู่ การดื่มน้ำอัดลมมากทำให้ความสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสเสียไป (มีฟอสฟอรัสมากขึ้น) ร่างกายจึงจำเป็นต้องสลายแคลเซียมออกจากคลังกระดูก เพื่อป้องกันไม่ให้ฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินไปจนส่งผลอันตรายต่อชีวิต
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่ม จำพวกเหล้า เบียร์ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต แอลกอฮอล์หรือกาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้จะไปขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียม ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมามากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ควรดื่มชา กาแฟ เกินวันละ ๓ ถ้วย
5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ แคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลระหว่างค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือด การสูบบุหรี่ทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรด แคลเซียมจะเข้ามามีบทบาทในการสะเทินฤทธิ์กรดจากบุหรี่ ดังนั้น บุหรี่ทุกๆ มวนจึงเป็นตัวที่ทำให้แคลเซียมละลายจากกระดูก นอกจากนี้ บุหรี่ยังทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงต่ำกว่าปกติด้วย จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุน
6. ระวังการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท ยาที่มีสารสตีรอยด์ ยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ ยาเหล่านี้เร่งการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย ดังนั้น หากจำเป็นต้องกินเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
การป้องกันภาวะกระดูกพรุนที่ถูกต้องจึงควรประกอบด้วยการกินอาหารให้ครบหมวดหมู่ ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม งดเว้นปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไว้ข้างต้น ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ