แป้ง-น้ำตาล ตัวการโรคอ้วน
ตั้งแต่วัยเด็กจนมาถึงปัจจุบัน สถาบันโภชนาการและหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับพีระมิดอาหาร ซึ่งคิดค้นโดยสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ ค.ศ. 1992 หรือประมาณ พ.ศ. 2535
ซึ่งให้แป้งและน้ำตาลเป็นฐานชั้นล่างสุด เป็นกลุ่มของอาหารจำพวกแป้งได้แก่ ข้าว ข้าวโพด แป้ง เผือก ธัญพืชทุกชนิด ขนมปัง ซีเรียลและอาหารจำพวกเส้นทั้งหลาย เป็นหมวดอาหารพื้นฐานที่คนไทยคุ้นชินว่า “กินข้าวเยอะๆ กินแต่กับเดี๋ยวเป็นตานขโมย”แป้งเมื่อเข้าสู่ร่างกายก็จะเข้าไปสู่กระบวนการย่อย ซึ่งร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนชื่อว่า “อินซูลิน” มาช่วยพาน้ำตาลไปให้เซลล์ใช้เป็นพลังงาน ร่างกายเรานี่มันฉลาดพลังงานที่เหลือใช้ในแต่ละวันก็เอาไปสะสมเป็นไขมันเผื่อยามฉุกเฉิน
แต่ถ้ามาดูในชีวิตประจำวันของเรา แต่ละวันร่างกายเราจะมีระดับตาลในเลือดในระดับมากอยู่ตลอดเวลา อาหารเช้า อาหารเบรกเช้า เที่ยง เบรกบ่าย เย็น ค่ำ เรียกว่า เรากินกันแบบ “อยากมากกว่าหิว”ร่างกายเราก็ฉลาดพอที่จะไม่ทำงานยากๆ จากการใช้พลังงานไปสลายไขมัน ดังนั้น ไขมันก็มีแต่จะเพิ่มพูนมากขึ้น เพราะน้ำตาลในกระแสเลือดจะถูกนำมาใช้ก่อนทุกครั้งพอลดระดับลงไปนิด เราก็จะเติมเข้าไปทั้งทางตรงและทางอ้อม และถูกนำมาใช้ก่อนเป็นอันดับแรก ทำให้ไขมันไม่ถูกเผาผลาญ พฤติกรรมติดหวานจากอาหาร เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบเป็นจำนวนมาก ๆ ตั้งแต่เด็กสะสมจนเป็นความเคยชิน การรับรู้รสหวานลดลง ร่างกายเกิดการกระตุ้นให้หลั่งอินซูลินตลอดเวลา จนกระทั่งตับอ่อนเสียหน้าที่ ผลิตอินซูลินได้น้อย เนื้อเยื่อเริ่มไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน และในที่สุดเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) กลายเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และตามมาด้วยโรคหัวใจนั่นเอง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ