โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

 
ออกกำลังกายยังไงให้พอดี.jpg
 
 

          โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นภาวะที่มีน้ำในหูชั้นในคั่งหรือมีความดันเพิ่มขึ้น ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการสร้างน้ำในหูชั้นในมากขึ้น หรือท่อทางเดินน้ำในหูชั้นในตีบแคบ ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก มีการดูดซึมน้ำในหูชั้นในกลับน้อยกว่าปกติ หรือเกิดจากภาวะภูมิแพ้

          ซึ่งโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน พบได้บ่อยในช่วงอายุ 30 - 50 ปี ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดความผิดปกติในหูข้างเดียวแต่ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 20 - 50 เป็นโรคนี้ในหูทั้งสองข้าง

การรักษา

          การรักษาหลัก คือ รักษาอาการเวียนศีรษะเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง

          ผู้ป่วยส่วนใหญ่รับประทานยาแก้เวียนศีรษะ ก็จะควบคุมอาการได้ดี ทั้งนี้การใช้ยาขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย บางรายเพียงรับประทานยาแก้เวียนศีรษะเป็นครั้งครา แต่ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเวียนศีรษะบ่อยเสียจนรบกวนการใช้ชีวิต ประจำวันอาจจำเป็นต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเดือนหรือเป็นปี

          ในผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรงมาก รับประทานยาแล้วได้ผลไม่เต็มที่ แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาผ่านเยื่อแก้วหูเข้าไปใน หูชั้นกลางเพื่อให้ยาซึมผ่านเข้าไปถึงหูชั้นในหรือใช้วิธีการผ่าตัด

          ส่วนอาการหูอื้อการได้ยินลดลง ในระยะแรกมักเกิดขึ้นชั่วคราวพร้อม ๆ กับอาการเวียนศีรษะ และการได้ยินจะดีขึ้นเมื่อหายเวียนศีรษะ แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้น การได้ยินอาจไม่ดีขึ้นเท่าเดิม ดังนั้น ในระยะยาวจะมีการได้ยินบกพร่องถาวรในหูข้างที่เป็นโรคได้

วิธีป้องกัน

          เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จึงยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรค แต่ก็ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง โดยทั่วไปแล้วอาการเวียนศีรษะมักจะทิ้งช่วงห่างออกไป เมื่ออายุมากขึ้น

          ดังนั้น ผู้ป่วยไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ทำอารมณ์ให้แจ่มใส ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม และมารับการรักษาอย่างถูกต้อง ต่อเนื่อง ก็จะควบคุมอาการเวียนศีรษะ และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

 
support techace