“สูงวัย” กับเรื่อง “ไต” ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

 
 
 

          เมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยมากยิ่งขึ้น ข้อมูลจากกรมกิจการผู้สูงอายุระบุว่าจะมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10 หรือมากกว่า 7 ล้านคนแล้ว และมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี 2564 สัดส่วนของจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นไปถึง 20-30 % แสดงว่าประชากรทุก ๆ 100 คน เราจะพบจำนวนผู้สูงอายุ 30 คน สิ่งสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งโรคไตเป็นกลุ่มโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ

          ผู้สูงอายุและโรคไตไม่ใช่เรื่องไกลตัว ผู้อายุมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไต ที่มีผลมาจากไตเสื่อม สูงวัยจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาทั้งการให้ยา ฟอกไต รวมไปถึงการ “เปลี่ยนถ่ายไต” การเปลี่ยนถ่ายไตในผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงจากสุขภาพ โรคประจำตัว และการฟื้นฟูสภาพร่างกายจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าวัยอื่น ๆ สูงวัยจึงจำเป็นต้องเฝ้าระวัง หากต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายไต

ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงเป็นโรคไต มากกว่าวัยอื่นจริงหรือไม่

          ปกติทั่วไปคนที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป การทำงานของไตจะเสื่อมลง 1% ต่อปี และต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นเมื่ออายุมากขึ้น แม้เป็นคนดูแลสุขภาพ ไตก็จะเสื่อมลงตามอายุโดยปกติ ดังนั้นผู้สูงอายุจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตที่มีผลมาจากไตเสื่อมนั่นเอง

ความเสี่ยงเป็นโรคไตในสูงอายุเกิดจากอะไร

          จริง ๆ แล้วทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงจากโรคไตได้ ปัจจัยหลักที่สำคัญของคนไทย คือ อาหารเค็มที่มาจากการปรุงอาหารที่ใส่เกลือมากเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด อาหารที่มีรสชาติเค็ม คือ อาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือโซเดียมมากเกินกำหนด อาหารไทยมีการปรุงให้รสชาติอร่อย ในรสชาติที่อร่อยนี่เอง จะมีโซเดียมที่สูงกว่าร่างกายควรได้รับ อาจจะเคยได้ยินการรณรงค์ให้ลดเค็ม ลดโซเดียม นี่แหละคือต้นตอร้ายของโรคไต โดยเฉพาะสูงวัยที่ไตเสื่อมหากบริโภคอาหารเค็มจัด ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น ๆ

การเปลี่ยนถ่ายไตในผู้สูงอายุมีข้อควรระวังอย่างไร

          ในปัจจุบันแม้ผู้ป่วยสูงวัยที่มีช่วงอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป หากมีร่างกายแข็งแรงและพร้อม ถึงแม้จะเป็นไตวาย ก็สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไตได้ โดยส่วนใหญ่ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงจากโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ แพทย์จึงต้องมีการประเมินสุขภาพอย่างละเอียด และที่สำคัญ คือ การทำงานของหัวใจ ดังนั้นก่อนเข้าสู่กระบวนการปลูกถ่ายไตทุกครั้ง จำเป็นต้องมีการประเมินผู้ป่วยอย่างละเอียด หากผ่านเกณฑ์ทั้งหมดจึงจะสามารถเข้ารับการปลูกถ่ายไตได้

ก่อน-หลัง การเปลี่ยนถ่ายไต ผู้สูงอายุต้องเตรียมตัวอย่างไร

          สิ่งสำคัญก่อนการปลูกถ่ายไต คือ ต้องดูแลสุขภาพให้พร้อม และได้รับการตรวจ และประเมินสุขภาพอย่างละเอียด รวมถึงเข้ารับการฟอกเลือดหรือล้างไตตามแผนการรักษาอย่างสม่ำเสมอ โดยการเตรียมตัวก่อนการปลูกถ่ายไต คือ

  1. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมจิตใจให้พร้อมตลอดเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา

  2. งดรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม แม้กระทั่งน้ำเปล่า 1 วันก่อนการผ่าตัดทันที

  3. ตรวจเลือด และปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ

  4. ทำความสะอาดจมูก และลำคอ

  5. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

  6. เอกซเรย์ทรวงอก

  7. การเตรียมความสะอาดของร่างกาย ด้วยสบู่ชนิดพิเศษ

  8. การให้สารน้ำทางหลอดเลือด

  9. การฟอกเลือด ขึ้นอยู่ดุลยพินิจของแพทย์

  10. การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน

  11. การเซ็นเอกสารยินยอมก่อนรับการผ่าตัด

 

          หลังปลูกถ่ายไตต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยต้องทานยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) เพื่อลดการปฏิเสธไตที่ปลูกถ่าย แต่จะส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยการปฏิบัติตัวหลังการปลูกถ่ายไต คือ

  1. การรับประทานยากดภูมิตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด

  2. การรับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน

  3. หากสังเกตพบว่ามีสิ่งปกติใด ๆ เกิดขึ้น ให้จดบันทึกไว้พร้อมวันและเวลา แล้วแจ้งให้แพทย์ที่ดูแลทราบเมื่อมาพบแพทย์ตามนัด

  4. พกใบรายการยาประจำติดตัวไว้เสมอ

  5. พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

  6. หากมีอาการข้างเคียงใหม่ ๆ จากการรับประทานยา หรือมีภาวะแทรกซ้อนฉุกเฉินให้ติดต่อแพทย์และโรงพยาบาลทันที

  7. ออกกำลังกายเบาได้ เพื่อเสริมสร้างความแข็ง แต่ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์

  8. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และรับประทานอาหารปรุงสุก

  9. งดการดื่มแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่

  10. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย วันละ 2 ลิตร

  11. ไม่เข้าไปอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเป็นจำนวนมาก

  12. ที่สำคัญระวังการติดเชื้อในช่วงแรกหลังปลูกถ่ายไต ด้วยการดูแลกิจวัตรประจำวัน เน้นย้ำการดูแลความสะอาด

รู้ไว้ก่อนป่วย หากไม่อยากเสี่ยงเป็นโรคไต ผู้สูงอายุควรทำอย่างไร ให้ไตแข็งแรง

  1. ดูแลเรื่องอาหาร ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม ลดการซดน้ำซุป เลี่ยงอาหารรสจัด

  2. ดูแลสุขภาพ โรคประจำตัว เบาหวาน ความดัน ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่ดี

  3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

  4. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว

  5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง

  6. หลีกเลี่ยงการทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาในกลุ่มยาแก้อักเสบ ยาชุด ที่สำคัญปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา

ทางที่ดีที่สุด ดูแลไตตั้งแต่วันนี้ ลดการบริโภคเค็ม ลดความเสี่ยงจากโรคไต

          ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท