โรคลิ้นหัวใจ (Valve Heart Disease)
โรคลิ้นหัวใจ (Valve Heart Disease) คือ โรคที่เกิดความผิดปกติขึ้นบริเวณลิ้นหัวใจทั้งอาการลิ้นหัวใจตีบ และลิ้นหัวใจรั่ว หากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การไหลเวียนของเลือดมีปัญหาในระดับรุนแรงจะทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ ซึ่งการรักษานั้นจะต้องทำผ่านการผ่าตัดทั้งการผ่าตัดแบบเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่มีประสิทธิภาพแตกต่างกัน
สาเหตุการเกิดลิ้นหัวใจรั่ว
มีความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่เป็นมาแต่กำเนิด อาจไม่มีอาการใดๆ ในวัยเด็ก หรือ ตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์
ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ เนื่องจากเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหว และรับแรงจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้น จึงเกิดการเสื่อม ลิ้นหัวใจจะหนาตัวขึ้น และเริ่มมีหินปูน (calcium) เข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อทำให้ปิดไม่สนิท
โรคหัวใจรูห์มาติค (rheumatic heart disease) เริ่มต้นจากการติดเชื้อ streptococcus ในคอ พบบ่อยในเด็ก ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาต่อต้านหัวใจตนเอง เกิดการอักเสบของลิ้นหัวใจ ผลที่ตามมาคือลิ้นหัวใจหนาตัวขึ้นมาก เกิดลิ้นหัวใจตีบ และรั่ว โรคนี้ยังจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ พบมากในผู้ป่วยเศรษฐานะต่ำ หรืออยู่ในชุมชนแออัด
เกิดจากการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจอักเสบเป็นรู เชื้อโรคอาจมาจากช่องปาก เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด (ในผู้ติดยาเสพติด) การเจาะตามร่างกาย เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ เป็นต้น
อาการที่พบบ่อยในโรคลิ้นหัวใจรั่ว
เจ็บหน้าอก
วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
เหนื่อยง่าย หายใจลำบากเมื่อออกแรง
เหนื่อย หอบ นอนราบไม่ได้
ไอ มีเสมหะปนเลือด
เท้าบวม ขาบวมกดบุ๋ม ท้องมาน
การรักษาลิ้นหัวใจรั่ว
สามารถรักษาได้ผ่านการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 2 รูปแบบ คือ
ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม เป็นการรักษาด้วยการเอาลิ้นหัวใจที่เสียหายออก และนำลิ้นหัวใจเทียมใส่เข้าไปแทนซึ่งมีอยู่หลายแบบทั้งจากโลหะ หรือเนื้อเยื่อของสัตว์ โดยอายุของลิ้นหัวใจใหม่นี้จะอยู่ที่ประมาณ 10 ถึง 15 ปี ควบคู่กับการทานยาเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัว การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
ผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ เป็นการผ่าตัดซ่อมแซมแก้ไขส่วนที่เสียหายของลิ้นหัวใจ โดยใช้เนื้อเยื่อหัวใจของผู้ป่วยเอง การรักษาด้วยวิธีนี้ถือว่าเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด เพราะร่างกายของผู้ป่วยจะไม่ต่อต้าน และสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพใกล้เคียงแบบเดิมอีกด้วย