มาดูวิธีลดเค็มลดโซเดียม
วิธีลดเค็มลดโซเดียม
หากปรุงอาหารเอง ควรลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหาร เช่น น้ำปลา ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว น้ำมันหอย ผงชูรส และควรตวงก่อนปรุงรสทุกครั้ง
หากกินข้าวนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่ม หลีกเลี่ยงการเติมพริกน้ำปลา ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ และไม่ควรซดน้ำแกงหรือน้ำซุปจนหมด เพราะโซเดียมจากเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะละลายอยู่ในน้ำแกงหรือซุป ซึ่งหากเป็นไปได้ควรประกอบอาหารกินเองแทนการกินข้าวนอกบ้าน
ถ้าต้องกินอาหารนอกบ้าน ก็ควรชิมอาหารก่อนเติมเครื่องปรุงทุกครั้ง และควรปรับพฤติกรรมการกิน โดยปรุงน้อย ๆ ไม่เติมน้ำปลาหรือซอสต่าง ๆ ตามชอบใจ รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการเติมน้ำจิ้มในอาหารต่าง ๆ และไม่ควรกินอาหารจำเจอย่างเดียว
หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัด อาหารหมักดอง แช่อิ่ม อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว หรือเลือกกินอาหารธรรมชาติ แต่ถ้าจำเป็นต้องกิน ควรอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้ง แล้วเลือกอาหารที่มีโซเดียมน้อยที่สุด
ควรลดการกินขนมหวานที่มีโซเดียม เช่น กล้วยบวชชี และอาหารที่มีโซเดียมแฝง ขนมอบทุกชนิดที่ใส่ผงฟู เช่น ขนมปัง เค้ก คุ้กกี้ โดนัท พาย ซาลาเปา เป็นต้น
ทั้งนี้ การกินโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้มากกว่าที่คิด ได้แก่ ลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ 10% ลดปัญหาหลอดเลือดอุดตันลง 13% ยืดอายุไตและไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคร้ายอื่น ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ