ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019

 
newstechace_ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019.jpg
 
 

           “ไวรัสโคโรนา” หรือ “ไวรัสอู่ฮั่น” คืออะไร ?

           “ไวรัสโคโรนา” เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่พบในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจจากไวรัส เป็นไวรัสกลุ่มใหญ่ที่พบได้ทั้งในคนและในสัตว์ ซึ่งในการนี้มีประชากรชาวจีนกว่า 11 ล้านคน กำลังประสบปัญหาอยู่ ภายหลังมีการเก็บตัวอย่างไวรัสจากคนไข้นำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ในเวลาต่อมาจีนและอนามัยโลก (WHO) เรียกโรคนี้ว่า ‘โรคปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุ’ (pneumonia of unknown cause)

           ไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นเมื่อใด ?

           ‘ไวรัสโคโรนา’ เริ่มระบาดในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2019 ในเมืองอู่ฮั่น เริ่มมีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนหลายราย โดยมีอาการไข้สูง ไอแห้ง ๆ อ่อนเพลีย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเจ้าของร้าน ลูกจ้าง หรือลูกค้าที่เคยมาซื้อของที่ตลาดอาหารทะเลแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีการค้าสัตว์หลายชนิด เช่น นก ไก่ฟ้า งู เครื่องในกระต่าย และสัตว์ป่าอื่น ๆ ขณะนี้ตลาดดังกล่าวได้มีการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และถูกปิดแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

           สถานการณ์ปัจจุบัน

           • ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 23 มกราคม 2563 ทางการจีนรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 571 ราย เสียชีวิต 17 ราย ยังมีอาการรุนแรง 95 ราย โดยมีผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ต้องติดตามกว่า 5000 ราย ขณะนี้มีหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คน และมีบุคลากรทางการแพทย์ป่วยแล้วจำนวน 15 ราย

           • จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นในประเทศจีน พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทำงานในตลาดหรือมีประวัติเดินทางไปที่ตลาด South China Seafood Market ในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีการค้าสัตว์หลายชนิด เช่น นก ไก่ฟ้า งู เครื่องในกระต่าย และสัตว์ป่าอื่นๆ ขณะนี้ตลาดดังกล่าวได้มีการจัดการด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และถูกปิดแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563

           • กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้มีมาตรการเฝ้าระวังคัดกรอง และป้องกันควบคุมโรค ปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนา ดังนี้

                      1) ทำการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศใน 5 ท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่

                      2) ขอความร่วมมือให้สถานพยาบาลทำการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ และมีประวัติการเดินทางไปเมืองอู่ฮั่น

                     3) การเฝ้าระวังในชุมชน โดยให้ความรู้ประชาชน เมื่อพบนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดของโรค มีอาการไข้ ร่วมกับมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้แจ้งบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค DDC Hotline 1422

           ไทยคุมเข้มเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา

           สำหรับประเทศไทยได้มีเปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่นอย่างเข้มข้น นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้รับบัตรเฝ้าระวังสุขภาพ (Health Beware Card) ให้สังเกตอาการและยื่นให้กับโรงพยาบาลทราบเวลาไปตรวจรักษา

           ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายได้รับโรคจะถูกแยกกักจนกว่าจะตรวจยืนยันเชื้อก่อโรคได้ ส่วนถ้ายืนยันว่าติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่จริงก็จะมีการติดตามญาติที่เดินทางมาด้วยกันมาตรวจหาเชื้อด้วย

           คำแนะนำสำหรับผู้ที่ (จำเป็น) ต้องไปเมืองอู่ฮั่น

           1. ขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือสถานที่ที่มีมลภาวะเป็นพิษ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม หากเลี่ยงไม่ได้ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน

           2. หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรวมถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี

           3. หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น

           4. ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ

           5. หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

               

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรณีโรคปอดอักเสบรุนแรงจากไวรัส กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข