การตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดแดง ABI (Ankle Brachial Index)

 
newstechace_ผักผลไม้มีใย อาหารมีประโยชน์.jpg
 
 

    การตรวจ ABI

          การตรวจสมรรถภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือการตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือด (Ankle Brachial Index : ABI) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “การตรวจ ABI” คือ การตรวจหาร่องรอยการตีบตันของหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขา เพื่อเช็คดูว่าเป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (Peripheral Arterial Disease : PAD) หรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย

          การตรวจ ABI นี้เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ให้ความแม่นยำสูง และไม่มีความเสี่ยงหรือได้รับความเจ็บปวดในขณะตรวจ (ลักษณะเหมือนการตรวจวัดความดันโลหิตทั่วไป) โดยจะอาศัยหลักการเปรียบเทียบความดันโลหิตระหว่างหลอดเลือดแดงที่แขน (Brachial artery) และหลอดเลือดแดงที่ขาบริเวณข้อเท้า (Ankle)

          หมายเหตุ : โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขาตีบตันส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการมีตะกรัน (Atherosclerotic plaque) ไปเกาะที่หลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบและเลือดไม่สามารถไหลผ่านไปเลี้ยงขาได้อย่างเพียงพอ มีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเท้า ขา ต้นขา หรือก้น ในขณะที่เดินหรือออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดภาวะเท้า/ขาเกิดเนื้อเน่าตาย (ถ้าลุกลามมากอาจต้องตัดเท้า/ขาทิ้ง) โรคหลอดเลือดสมองตีบ (เป็นสาเหตุให้เกิดอัมพาต) และโรคหลอดเลือดหัวใจ (ส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตฉับพลัน) ได้ด้วย

          โดย 50% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ตรวจพบด้วยการตรวจ ABI จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ต่อมาเมื่อเส้นเลือดตีบมากขึ้นและเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนนั้นไม่พอก็จะเกิดอาการปวดตามมา ดังนั้นการตรวจเช็คและดูแลรักษาหลอดเลือดแดงให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง สมบูรณ์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยในการป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

   ประโยชน์ของการตรวจ ABI

  • เป็นการตรวจดูการอุดตันของหลอดเลือดแดงและความยืดหยุ่นของหลอดเลือด

  • ใช้ในการช่วยวินิจฉัยหรือค้นหาโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขาตีบตันในระยะแรก ๆ ที่มักพบบ่อยร่วมกับการอุดตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและสมอง (โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน สูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีอาการปวดขา)

  • การตรวจนี้สามารถนำไปสู่การค้นหาโรคสำคัญอื่น ๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งสามามารถทำให้เกิดอัมพาตและเสียชีวิตได้

  • ช่วยทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจในอนาคต โดยมีการศึกษาที่บ่งชี้ว่า ผู้ที่มีอายุเฉลี่ย 66 ปี ที่มีค่า ABI ผิดปกติ จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจได้มากกว่าผู้ที่ค่า ABI ปกติ ถึง 6.3 เท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ 4.8 เท่า

  • ใช้ประเมินระดับความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือด

  • ใช้ตรวจเพื่อประเมินผลภายหลังการรักษา

   ผู้ที่สมควรตรวจ ABI ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคอ้วน (ค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 25)

  • ผู้ที่ป่วยจากภาวะใด ๆ ก็ตามจนไม่สามารถเดินไปมาได้และต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงตลอด

  • ผู้ที่มีระดับของสารบางอย่างในเลือดสูง เช่น โฮโมซีสทีน (Homocysteine), ไลโพโปรตีน (Lipoprotein)

  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัด หรือสูบบุหรี่มากกว่า 10 ปี (รวมถึงผู้สูบบุหรี่มือสองด้วย)

  • ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี (ในคนอายุน้อยกว่า 60 ปี จะพบโรคโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบได้น้อยกว่า 3% แต่ในคนที่อายุมากกว่า 70 ปี จะพบโรคนี้ได้มากกว่า 20% ทั้งเพศหญิงและชายในอัตราส่วนที่ไม่แตกต่างกัน)

  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองตีบก่อนวัยอันควร

               

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เมดไทย (Medthai)