วัยทอง หญิง-ชายไม่ต่างกัน

Slide59.jpg

  การเปลี่ยนแปลงชีวิตสู่วัยทองของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ในทางการแพทย์เชื่อว่าถ้าพ่อแม่เข้าสู่วัยทองเร็ว ลูกๆ ก็ถึงวัยทองเร็วกว่าปกติด้วย โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะเข้าสู่วัยทองระหว่างอายุประมาณ 48-52 ปี และสำหรับผู้ชายเองก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้หญิงมากนัก

          ฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิงสร้างจากรังไข่ เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนขาดไปและไม่มีการตกไข่ ทางการแพทย์จะเรียกหญิงวัยทองว่า เมโนพอส (menopause) ส่วนผู้ชาย ฮอร์โมนแอนโดรเจนจะสร้างจากอัณฑะและมีมากในวัยเจริญพันธุ์ เมื่ออายุมากขึ้นฮอร์โมนแอนโดรเจนจะน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของผู้ชาย (ทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป) ไม่แตกต่างไปจากผู้หญิง ทางการแพทย์เรียกผู้ชายวัยทองว่า "แอนโดรพอส" (andropause)

          อาการที่พบได้ในผู้ชายวัยทอง คือ เครียด หงุดหงิด โกรธง่ายเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เหงื่อออกมาก สมาธิลดลง นอนไม่ค่อยหลับ กำลังวังชาลดลง โครงสร้างของร่างกาย เช่น กระดูกต่างๆ เริ่มเสื่อมถอย (แม้จะไม่ชัดเจนเหมือนผู้หญิง) มีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ กระดูกพรุน ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะออกลำบาก สมรรถภาพทางเพศลดลง ซึ่งเรื่องนี้แหละที่ผู้ชายส่วนใหญ่วิตกกังวลกันมากเป็นพิเศษ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ชายวัยทองที่เห็นได้ชัดอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ การเผาผลาญไขมันจะลดลง จึงทำให้มีไขมันส่วนเกินได้ง่าย ดังนั้นผู้ชายวัยทองจึงมักจะลงพุง กล้ามเนื้อลีบเล็กลง แข็งแรงน้อยลง และผมบางมากขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้ฮอร์โมนเพศชายลดลงเร็วกว่าปกติ

          นอกจากอายุซึ่งเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศชายลดลงแล้ว ปัจจุบันยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ผู้ชายเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าปกติ นั่นคือ

                    - เรื่องของกรรมพันธุ์

                    - การทำงานหนัก และพักผ่อนน้อย

                    - มีความเครียดตลอดเวลา

                    - ความอ้วน

                    - การขาดสารอาหารบางชนิด (เช่น แร่ธาตุสังกะสี เบต้าแคโรทีน)

                    - การดื่มเหล้า สูบบุหรี่

                    - มีโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไตวาย ฯลฯ)

                    - การกินยาบางชนิด (เช่น ยารักษาไทรอยด์)

                    - การออกกำลังกายที่มากเกินไป เป็นต้น

          สรุปได้ว่าอะไรก็ตามที่ทำให้ร่างกายเสื่อมถอยเร็ว จะทำให้มีการหมดฮอร์โมนเร็วขึ้นด้วยเช่นกัน

ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ชายวัยทอง

          ฮอร์โมนเพศชายมีหน้าที่ช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกาย ทำให้การกระจายตัวของไขมันเป็นปกติ เมื่อฮอร์โมนดังกล่าวลดลง จะทำให้ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดอุดตันได้ง่าย ดังนั้นผู้ชายวัยทองจึงมักจะลงพุง และเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบหลอดเลือด (โรคหัวใจ อัมพาต) ได้มาก ขณะเดียวกันฮอร์โมนเพศที่ลดลง จะทำให้ผู้ชายมีอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไม่มีอารมณ์ที่จะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถ้าหากผู้ชายคนไหนที่ยึดถือเอาเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งใหญ่ในชีวิต ภาวะดังกล่าว ก็จะมีผลต่อจิตใจ ความรู้สึก และการดำเนินชีวิตครอบครัวมากทีเดียว โดยเฉพาะถ้าไม่มีการพูดคุยให้เข้าใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ในระยะยาวผลของการขาดฮอร์โมนเพศชายจะทำให้กระดูกบางลง เป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนทำให้เกิดภาวะกระดูกหักได้ง่าย กล้ามเนื้อจะค่อยๆ ลีบเล็กลง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ชอบออกกำลังกาย

การรักษาอาการของผู้ชายวัยทอง

          การรักษาอาการของผู้ชายวัยทองขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล ในทางการแพทย์มีวิธีรักษาอยู่หลายวิธีด้วยกัน อันดับแรกจะเป็นการรักษาทางจิตใจก่อน ซึ่งในบางราย การพูดคุยอย่างเดียวก็สามารถ ฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยได้ หรือบางรายอาจต้องใช้ยาร่วมด้วย การใช้ยาฮอร์โมนเพศชายเสริม มีตั้งแต่ชนิดกินและชนิดเจลทาผิว ฯลฯ ซึ่งหลายๆ วิธีที่กล่าวถึงนี้ ผู้ป่วยไม่ควรไปซื้อมาใช้เอง ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เมื่อไรที่สังเกตว่า ตัวเองเริ่มมีอาการผิดปกติ หรือสงสัยว่าจะเป็นอาการของผู้ชายวัยทองหรือไม่ ขั้นแรกแนะนำว่าควรจะไปพบแพทย์ (ทางด้านอายุรกรรม : หมอตรวจโรคทั่วไป) ให้ตรวจร่างกายทั่วไปก่อนว่ามีปัญหาเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บอะไรซ่อนแฝงอยู่หรือไม่ ที่ทำให้มีผลกระทบต่อสมรรถภาพทางเพศ เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ โรคหัวใจ โรคตับ การใช้ยาบางชนิด ฯลฯ ถ้าหากไม่มีปัญหาเรื่องโรคต่างๆ สูติ-นรีแพทย์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องครอบครัว ชีวิตคู่ และแพทย์ทางด้านยูโรวิทยา (ระบบทางเดินปัสสาวะ) จะดูแลรักษาในเรื่องการใช้ยา การเสริมซิลิโคน หรืออื่นๆ