โรคเส้นประสาทเหตุจากเบาหวาน

 
newstechace_โรคเส้นประสาทเหตุจากเบาหวาน.jpg
 
 

         โรคเส้นประสาทเป็นภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยเบาหวาน และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคเส้นประสาทโดยทั่วไปเช่นกัน โรคนี้มีลักษณะเวชกรรมที่แตกต่างกันตามตำแหน่งของรอยโรค แต่ล้วนทำให้เกิดความพิการต่อผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น

         สาเหตุและกลไกของโรค

         ความเสื่อมของเส้นประสาทนี้เชื่อว่า มีหลายสาเหตุร่วมกัน แต่ที่กล่าวถึงมากที่สุด คือ การบาดเจ็บของหลอดเลือดขนาดเล็กจากอนุมูลอิสระของออกซิเจนร่วมกับกลวิธานอื่น ๆ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของซอร์บิทอลจากเอนไซน์ Aldose reductase ที่เหนี่ยวนำโดยระดับกลูโคสที่สูงขึ้นในเลือด การเพิ่มขึ้นนี้มีผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาทและมีการสร้างอนุมูลอิสระของออกซิเจนเพิ่มขึ้น การกระตุ้น Protein kinase C การสะสมของสาร advanced glycation endproducts มีการสะสมของสารประกอบทางภูมิคุ้มกันและสารสื่ออักเสบ และการทำงานที่ผิดปรกติของเซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้อง

         การวินิจฉัยและการวินิจฉัยแยกโรค

         โดยทั่วไปการวินิจฉัยโรคเส้นประสาทเบาหวานนี้ มักใช้ลักษณะเวชกรรมเป็นหลัก เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักมีโรคร่วมอื่น จึงควรวินิจฉัยแยกโรคเส้นประสาทจากเหตุอื่น เช่น ภาวะไตวาย ภาวะขาดสารอาหาร โรคทางระบบภูมิคุ้มกัน โรคเลือด พิษจากยาหรือสารพิษอื่น ส่วนโรคในระบบอื่นที่อาจมีอาการคล้ายกัน เช่น ช่องไขสันหลังตีบแคบ ทำให้เกิดการกดทับรากประสาทหรือไขสันหลัง เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ในรายที่มีโรคเส้นประสาทขนาดเล็ก ควรตรวจการทนต่อน้ำตาล

         การรักษา

         สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ การป้องกันโรค การบรรเทาอาการ และการป้องกันภาวะแทรกซ้อน

         1. การป้องกันหรือชะลอโรค

         ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ การควบคุมเบาหวานอย่างเคร่งครัด จากการศึกษาระยะยาว พบว่าสามารถป้องกันหรือชะลอโรคเส้นประสาทนี้ได้มาก ส่วนการรักษาที่มุ่งเป้าต่อพยาธิสรีรวิทยาของโรคนั้น พบว่ายังไม่มีข้อมูลชัดเจนถึงประโยชน์ทางเวชกรรม ไม่ว่าเป็นยากลุ่ม Aldose reductase inhibitor , vasodilator ,  Protein kinase C inhibitor , nerve growth factor ฯลฯ ยาในกลุ่มที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น alpha lipoic acid นั้น มีข้อมูลบ้างที่สนับสนุนถึงประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดประสาทจากโรคนี้

         2. การบรรเทาอาการ

         ผู้ป่วยที่มีอาการปวดประสาทที่เรียกว่า ภาวะปวดเหตุพยาธิสภาพประสาท มักมีความทุกข์ทรมานจากโรคมาก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การบรรเทาอาการปวดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลายลักษณะร่วมกันและมักไม่ตอบสนองกับยาแก้ปวดทั่วไป แต่จะตอบสนองกับยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กับระบบประสาทโดยตรง เช่น ยาต้านเศร้า และยากันชัก นอกจากนั้นยาอื่นที่มักใช้เป็นยาเสริม เช่น ยาทา 0.075% capsaicin cream ยาเหล่านี้อาจให้ร่วมกันได้ เมื่อใช้ยาเดียวไม่ได้ผล การเลือกใช้ยาต่าง ๆ ควรพิจารณาตามลักษณะผู้ป่วยแต่ละราย โรคร่วม และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

         3. การป้องกันภาวะแทรกซ้อน

         ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเท้าและรองเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันและรักษาแผลที่อาจขึ้นแต่เนิ่น ๆ อาจพิจารณาใช้รองเท้าพิเศษหรือกายอุปกรณ์ ถ้าจำเป็น ควรป้องกันอุบัติเหตุจากการสูญเสียความรู้สึก เช่น การสัมผัสกับสิ่งที่ร้อน โดยไม่ได้ตั้งใจ หากมีปัญหาการเดิน ควรได้รับการฝึกสมดุลการทรงตัว และป้องกันการล้ม ผิวหนังในบริเวณแขนขาที่มีปัญหาเส้นประสาทขนาดเล็ก มักแห้งและแตกง่าย จึงควรใช้ครีมทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการเกา

               

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ