โรคผิวหนัง กับ ความเครียด

 
newstechace_โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภัยซ่อนเร้นที่หลายคนมองข้าม1.jpg
 
 

           หลายปีที่ผ่านมานี้ภาวะรอบด้านทำให้คนไทยเครียดกันมาก ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น ทำให้ลืมง่าย ไม่มีสมาธิในการทำงาน หงุดหงิด โมโหง่าย ติดยาเสพติด ปวดท้อง ปวดหัว ปวดหลัง นอนไม่หลับ ความเครียดยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะอาหาร หืด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และโรคจิต โรคประสาท นอกจากนั้นความเครียดหรือโรคทางใจยังมีผลต่อผิวหนังอีกด้วย   

           โรคผิวหนังและโรคทางใจเกี่ยวข้องกันได้อย่างไรสามารถแบ่งลักษณะความเกี่ยวข้องกันได้เป็น 3 กลุ่ม

           1. กลุ่มที่เป็นโรคผิวหนังอยู่แล้ว แต่โรคทางใจทำให้โรคผิวหนังกำเริบ เช่น สิว ผมร่วงเป็นหย่อม โรคผิวหนังภูมิแพ้ เริม เหงื่อออกมาก คัน สะเก็ดเงิน โรคผิวเปลือกไม้ (lichen simplex chronicus) ลมพิษ และหูด   

           2. กลุ่มโรคผิวหนังเป็นตัวทำให้จิตป่วย พบว่าโรคผิวหนังที่ลักษณะภายนอกไม่น่าดู หรือน่ารังเกียจ เช่น สิวที่รุนแรง สะเก็ดเงิน ด่างขาว และเริม ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย เสียความมั่นใจในตนเอง และเกิดความเครียด

           3. กลุ่มโรคทางใจที่มีอาการทางผิวหนัง พบว่าความผิดปกติทางผิวหนังบางอย่างเป็นอาการของโรคทางใจโดยตรง เช่น โรคชอบดึงผมเล่นจนร่วง โรคหลงผิดว่ามีพยาธิหรือแมลงไต่ตามผิวหนัง และโรคไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตนเอง

           ความเครียดส่งผลเสียต่อผิวอย่างไร

           เมื่อเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนแห่งความเครียดคือ คอร์ติซอล (cortisol) ทำให้ต่อมไขมันทำงานมากขึ้น เกิดอาการผิวมัน สิว และโรคผิวหนังอื่นๆ 

           ความเครียดยังทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงจึงทำให้ผิวหนังติดเชื้อง่าย เกิดโรคเริมกำเริบ งูสวัด แผลหายช้า และมะเร็งผิวหนังสูงขึ้น 

           บางคนเวลาเครียดจะกัดเล็บ ความเครียดยังทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งตัว เกิดเป็นรอยย่นลึกที่ใบหน้า เช่น ที่หน้าผาก และหัวคิ้ว

           โรคจิตหลงผิดของผิวหนัง กลุ่มอาการหลงผิดมีลักษณะคือ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตปกติกับคนอื่นๆ ได้โดยแยกไม่ออก สามารถพูดจารู้เรื่อง ทำอะไรได้ทุกอย่างเหมือนคนทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้คิดว่าตัวเองเจ็บป่วย ส่วนใหญ่จึงไม่เข้ารับการรักษา ทางด้านของโรคผิวหนังก็พบโรคจิตหลงผิดของผิวหนังได้ เช่น

  • โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะเล่าว่ารู้สึกว่ามีพยาธิหรือแมลงไต่ เจาะเป็นอุโมงค์ หรือกัดผิวหนัง

  • โรคฝังใจว่ามีเส้นใยผุดออกมาจากผิวหนัง ผู้ป่วยโรคนี้เชื่อฝังใจว่ามีเส้นใย หรือวัสดุอื่นๆ ฝังหรือผุดออกมา จากผิวหนัง

  • โรคฉันไม่สวย และโรคจิตหลงผิดว่ามีกลิ่นตัว ผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่ากลิ่นตัว กลิ่นปาก หรือกลิ่นจากช่องคลอด ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม ผู้ป่วยจะอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยกว่าปกติ   

           โรคฉันไม่สวย  ผู้ป่วยโรคนี้จะคิดว่าตนเองมีความผิดปกติของผิวหนัง หรือมีอวัยวะไม่ได้สัดส่วน บางคนกังวลเรื่องผมบาง ขนดก รูขุมขนโต เรียกชื่อโรคนี้ว่า body dysmorphic disorder (BDD) หรือบีดีดี ผู้ป่วยชอบเปรียบเทียบอวัยวะที่ตนเองคิดว่าผิดปกติกับคนอื่น ชอบแต่งหน้าทำผมครั้งละนานๆ ชอบครุ่นคิดถึงรูปร่างหน้าตาตัวเอง  พบอาการซึมเศร้ารุนแรงร่วมด้วยได้บ่อย ถ้าโรคนี้เกิดในผู้ใหญ่อาจแสดงอาการในรูปของความกลัวแก่อย่างรุนแรง โรคบีดีดีมักเริ่มเป็นเมื่ออายุน้อยคือ ๑๖-๑๗ ปี และเป็นเรื้อรัง     

           โรคกลัวแก่ขึ้นสมอง หรือกลุ่มอาการดอเรียนเกรย์ (Dorian Gray syndrome) ตั้งชื่อตามนวนิยายชื่อ The Picture of Dorian Gray ที่มีตัวละครเอกชื่อ ดอเรียนเกรย์ ที่กลัวความแก่มากจนต้องขอให้ภาพวาดแก่แทน ผู้ป่วยกลุ่มอาการนี้จะมีลักษณะของบีดีดีร่วมกับการมีพัฒนาการทางจิตใจที่ผิดปกติ  ผู้ป่วยยังมีประวัติใช้ยา หรือเทคนิคที่ปรับปรุงคุณภาพในการดำเนินชีวิตอย่างน้อย ๒ ชนิด ได้แก่ ยาปลูกผม ยาลดไขมัน ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ ยาต้านอาการซึมเศร้า มารักษาผิวหนัง เพื่อเสริมความงาม (เช่น ทำเลเซอร์ผลัดผิว) และทำศัลยกรรมตกแต่ง (เช่น ผ่าตัดดึงหน้า ดูดไขมัน)    

           คงมองภาพรวมออกว่า โรคทางใจและโรคผิวหนังเกี่ยวข้องกันอย่างไร และผิวหนังก็ไม่ได้เป็นแค่เปลือกที่ห่อหุ้มร่างกายเท่านั้น แต่ก็เป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่มีความสัมพันธ์กับระบบอื่นของร่างกายและจิตใจ จึงควรเข้าใจว่าทำไมบางครั้งเป็นโรคผิวหนังแล้วแพทย์ผิวหนังขอให้ไปพบจิตแพทย์ร่วมด้วย หรือบางครั้งเป็นโรคผิวหนังแล้ว แพทย์ผิวหนังขอให้ไปพบอายุรแพทย์ เพื่อตรวจตับ ตรวจไต ตรวจระบบเลือด ฯลฯ ทั้งนี้ เพราะความเปลี่ยนแปลงของร่างกายอวัยวะอื่นๆ จิตใจ และผิวหนัง มีความสัมพันธ์ และส่งผลถึงกันได้ทั้งหมด

               

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ