การปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์

 
newstechace_โรคคอตีบ ป้องกันด้วยวัคซีน.jpg
 
 

         โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการสะสมของกรดยูริคในร่างกาย จนเกิดการตกผลึกของเกลือยูเรตในข้อและเกิดการอักเสบของข้อตามมา โรคเกาต์มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงโดยในเพศชาย มักเป็นในวัยกลางคนขึ้นไป ส่วนเพศหญิงมักพบหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว

         อาการ

         เริ่มแรกผู้ป่วยมักมีอาการปวด บวม แดง และ กดเจ็บบริเวณข้อนิ้วหลังตื่นนอนตอนเช้า ตำแหน่งที่พบบ่อยจะเป็นที่ข้อนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า และข้อเข่าก่อน ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย อาการปวดข้อมักเป็นอยู่ประมาณ 3 – 5 วัน หากมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยจะไม่สามารถขยับและเคลื่อนไหวข้อนั้นได้

         ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์มานาน และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะเกิดผลึกของเกลือยูเรตสะสมในบริเวณข้อ เกิดเป็นก้อนที่เรียกว่า “โทฟัส” ที่จะค่อยๆทำลายข้อ ทำให้เกิดความพิการตามมาได้ นอกจากนี้อาจเกิดการสะสมที่อวัยวะอื่น เช่น ที่ผิวหนังหรือหากสะสมที่ไตจะทำให้เกิดนิ่วในไตหรือเกิดไตวายเรื้อรังได้ เป็นต้น

         การปฏิบัติตนสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์

         1.ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งหากผู้ป่วยใช้ยาแก้ปวดไม่ถูกต้อง อาจส่งผลเสียต่อตับหรือไตได้

         2.งดดื่มสุรา เบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้การขับกรดยูริคออกจากร่างกายได้น้อยลง ทำให้มีระดับของกรดยูริคในเลือดสูง

         3.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง เพราะจะทำให้มีระดับกรดยูริคในเลือดสูง

         4.ดื่มน้ำมากๆจะช่วยในการขับกรดยูริค

         5.หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักตัวลงจะช่วยลดอาการข้ออักเสบกำเริบได้

         6.ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเลือกประเภทของการออกกำลังกายที่ไม่กระทบกระเทือนข้อ เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว ซี่กง เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ