โรคคอตีบ ป้องกันด้วยวัคซีน
โรคคอตีบ ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
โรคคอตีบเป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถสร้างพิษ ( exotoxin ) และทำให้เกิดการอักเสบ และมีเนื้อตายเป็นแผ่นหนาในคอหอยหรือหลอดลม ทำให้เกิดการตีบตันของทางเดินหายใจ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากทางเดินหายใจอุดตันหรือหัวใจล้มเหลว สารพิษที่เชื้อโรคคอตีบปล่อยออกมายังสามารถทำเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ หรือหัวใจล้มเหลวได้
การติดต่อ
ติดต่อทางการหายใจ จากการไอ จามรดกัน ใช้ภาชนะร่วมกันหรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด เชื้อโรคจะเข้าสู่ผู้สัมผัสทางปากหรือทางการหายใจ ผู้ป่วยโรคคอตีบหรือผู้ติดเชื้อที่มีเชื้ออยู่ในจมูกหรือคอหอยสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ แม้ว่าจะไม่มีอาการของโรค
อาการ
มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ ไอ เบื่ออาหาร ต่อมาจะมีแผ่นฝ้าขาวอมเทาติดแน่นที่บริเวณคอหอย ทอนซิลและอาจพบได้ที่ โพรงจมูก กล่องเสียง
การป้องกันโรคคอตีบ
1.โรคคอตีบป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนในทุกกลุ่มอายุให้ครบตามเกณฑ์มาตรฐาน ถึงแม้ผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคคอตีบแล้วก็ต้องได้รับวัคซีนต่อไปให้ครบตามเกณฑ์ เพื่อเป็นการป้องกันโรค ควรได้รับวัคซีนดังนี้
กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรได้รับวัคซีนครบตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข
กลุ่มเด็กนักเรียนเมื่อเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก ( dT ) เข็มกระตุ้นทุกคน
กลุ่มผู้ใหญ่ ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคตีบ บาดทะยัก ( dT ) และควรได้รับการฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี
สามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก ( dT ) ได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง
2.หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโรคคอตีบหรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีผู้คนอยู่กันแออัด
3.ถ้ามีผู้ป่วยในบ้าน ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากและต้องมีการทำลายน้ำมูก น้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยอย่างถูกสุขลักษณะ
4.หากเป็นหวัดหรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
5.ควรมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี และถูกสุขลักษณะ เช่น เวลาไอหรือจามใช้ผ้าเช็ดหน้า กระดาษชำระหรือใช้ต้นแขนปิดปาก ปิดจมูก และควรล้างมือบ่อยๆ
6.ถ้ามีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ให้รีบพบแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ