ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้อย่างไร
ร่างกายของคนเรามีกระบวนการป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดสูงจนเกินไป เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อน เพื่อนำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงาน อย่างไรก็ตามแต่ละคนจะตอบสนองต่อปริมาณอินซูลินที่หลั่งออกมาได้ไม่เท่ากัน บางคนหลั่งอินซูลินออกมาไม่มากก็สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์และสร้างพลังงานได้ ขณะที่บางคนหลั่งอินซูลินออกมาเท่ากันแต่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์จึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูง
ภาวะที่อินซูลินไม่สามารถทำงานได้นี้เรียกว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ในทางการแพทย์มียาหลายชนิดเพื่อเพิ่มการหลั่งอินซูลินและลดการดื้อต่ออินซูลิน นอกจากอินซูลินแล้วยังมีสิ่งอื่น ๆ อีก ที่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่
1. อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต มีแต่ข้าวและแป้งเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วมีหลายกลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มนม นมเป็นอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นถ้าบริโภคนมมาก น้ำตาลในเลือด สูงขึ้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามนมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและวัยรุ่น จึงแนะนำให้ดื่มนมรสจืดเป็นหลัก ควรหลีกเลี่ยงนมรสหวาน นมเปรี้ยว หรือนมที่มีการปรุงรส
- กลุ่มผัก ผักบางชนิดมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบ เช่น ฟักทอง มัน มันแกว เผือก เป็นต้น กลุ่มผลไม้ ผลไม้แต่ละชนิดจะให้น้ำตาลมากน้อยไม่เท่ากัน ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม และควรหลีกเลี่ยงน้ำผลไม้คั้น เพราะต้องใช้ผลไม้จำนวนมากทำให้ได้รับน้ำตาลมากกว่าปกติ อีกทั้งยังสูญเสียใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่
- กลุ่มสารให้ความหวาน สารให้ความหวานบางประเภทก็ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต และทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง เป็นต้น กลุ่มเครื่องดื่มที่มีคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง เบียร์บางชนิด ไวน์ที่กินกับของหวาน เป็นต้น
2. ฮอร์โมนที่มากเกินไป ได้แก่ฮอร์โมนการเจริญเติบโต ฮอร์โมนสเตียรอยด์ จึงต้องระวังการกินยา อาหารเสริมหรือ สมุนไพรที่อาจจะมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เพราะจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
3. ภาวะเครียด จากการศึกษาพบว่า ภาวะเครียดจะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนบางอย่างมากเกินไป ทำให้ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และอาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานดูแลตัวเองน้อยลง เช่น กินหรือฉีดยาไม่ครบ จะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น
4. ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายจะทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง ทำให้ร่างกายสามารถนำน้ำตาลในเลือด
5. การมีประจำเดือน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเพศเปลี่ยนแปลงไปทำให้สารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ลดลงอย่างรวดเร็ว ร่างกายจึงต้องการคาร์โบไฮเดรตมากกว่าปกติเพื่อไปเพิ่มสารนี้ ควรควบคุมโภชนาการให้ถูกต้อง และหากิจกรรมอื่นทำจะได้ไม่คิดถึงแต่เรื่องกินตลอดเวลา หรือไม่ก็กินผลไม้แทน
6. การตั้งครรภ์ เป็นผลมาจากฮอร์โมนที่สร้างจากรก ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี แต่ส่วนมากระดับ น้ำตาลจะกลับเป็นปกติหลังคลอดอย่างไร ก็ตามแนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำการตรวจน้ำตาลซ้ำหลังคลอด
7. การนอนหลับ ระยะเวลาการนอนที่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงหรือ มากกว่า 8 ชั่วโมงต่อคืน จะทำให้ระดับ น้ำตาลสูงขึ้นได้ ทั้งนี้ยังไม่ทราบถึงกลไกที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
8. ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานาน จะทำให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินได้ลดลง ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงยิ่งขึ้น ดังนั้นควรรักษาให้น้ำตาลอยู่ในระดับที่ปกติให้เร็วที่สุด ตับอ่อนจะได้หลั่งอินซูลินได้ตามปกติ
จะเห็นได้ว่ามีหลายสิ่งที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เราจึงควรกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ไปนาน ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ