อะไรคือ "นอนกรน"
นอนกรน คือ ความผิดปกติของการนอน มีทั้งประเภทที่เป็นอันตรายและไม่อันตราย กรณีร้ายแรงอาจทำให้หยุดหายใจขณะหลับ ดังนั้นผู้ที่นอนข้าง ๆ ควรสังเกตพฤติกรรมเสี่ยง
นอนกรน ชนิดไม่อันตราย
ในขณะที่คนเรานอนหงายและหลับสนิท เนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ในช่องคอ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เนื้อเยื่อบริเวณเพดานอ่อนจะตกไปทางด้านหลัง ในคนที่ช่องคอแคบกว่าปกติ เนื้อเยื่อเหล่านี้จะขวางกั้นทางเดินผ่านของอากาศจึงเกิดเสียงกรนขึ้น เสียงกรนเหล่านี้จะรบกวนคนที่นอนด้วยทำให้เกิดความรำคาญ หรือในรายที่อาการกรนตั้งแต่เริ่มหลับอาจรบกวนกระบวนการการนอนของผู้ป่วยเอง ทำให้นอนสะดุ้งบ่อยจากเสียงกรนของตนเอง
นอนกรน ชนิดอันตราย-หยุดหายใจขณะหลับ
ในภาวะที่ผู้ป่วยมีช่องลำคอตีบมากจากอวัยวะต่างๆ ในช่องคอ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เพดานอ่อนหย่อนยานมากมีการขวางทางเดินหายใจจนถึงขนาดอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบน ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการกรนไม่สม่ำเสมอ กรนเสียงดังมาก อาจมีอาการสำลักน้ำลาย หรือสะดุ้งตื่นกลางดึก หรือมีอาการหายใจหอบเหมือนอาการขาดอากาศ การขาดอากาศบ่อยครั้งทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อสุขภาพ ร่างกายหลายอย่าง
การหยุดหายใจขณะนอนหลับ ประกอบด้วย
1. การหยุดหายใจ หมายถึง สภาวะที่ไม่มีลมหายใจผ่านเข้า-ออกทางจมูก หรือปาก เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วินาที
2. หายใจแผ่ว หมายถึง สภาวะที่มีลมหายใจผ่าน เข้า-ออกทางจมูก หรือปากลดลงร้อยละ 50 หรือมากกว่า เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วินาที โดยสังเกตได้จากการกระเพื่อมของทรวงอกและท้องลดลง
ขณะที่คนเราหยุดหายใจขณะหลับ ระดับออกซิเจนในหลอดเลือดแดงจะต่ำลง ทำให้ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะหัวใจ สมอง ปอด
เมื่อออกซิเจนในเลือดลดลงถึงระดับหนึ่ง ร่างกาย (โดยเฉพาะสมอง) จะมีกลไกตอบสนองภาวะนี้ โดยจะปลุกให้ตื่น มีอาการสะดุ้ง สำลักน้ำลายตนเอง เพื่อเปิดทางเดินหายใจและทำให้ออกซิเจนสามารถผ่านเข้าไปในปอดอีก แล้วสมองก็จะเริ่มหลับอีกครั้ง การหายใจจะเริ่มติดขัดอีก ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง สมองก็จะปลุกให้ตื่นอีกเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ไปตลอดทั้งคืน ทำให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ การนอนหลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายมีผลกระทบถึงอวัยวะอื่นๆ เช่น ระบบหัวใจ ระบบไหลเวียนของเลือด สมอง ปอด ทำให้ความดันเลือดสูง เกิดภาวะโรคหัวใจขาดเลือด สุขภาพแย่ลงจนเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
อะไรทำให้ "นอนกรน" และหยุดหายใจขณะหลับ
บางครั้งผู้ป่วยที่นอนกรน ไม่ทราบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ อาจให้คนนอนข้างๆ สังเกตหรือพิจารณาว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
1. อายุ ในคนที่มีอายุมาก เนื้อเยื่อต่างๆ ขาดความตึงตัว กล้ามเนื้อหย่อนยาน รวมทั้งช่องทางเดินหายใจบริเวณคอแคบลง ลิ้นไก่และลิ้นตกไปบังทางเดินหายใจได้ง่าย
2. เพศ เพศชายมีอุบัติการณ์การนอนกรนและภาวการณ์หยุดหายใจขณะหลับจากการอุดตันทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าเพศหญิง เชื่อว่าฮอร์โมนของเพศหญิงมีส่วนทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจ มีความตึงตัวที่ดีกว่า
3. ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้า คนที่มีคางสั้นมาก กระดูกใบหน้าแบน จะมีผลทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าปกติ
4. ความอ้วน ผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีการสะสมของไขมันมากบริเวณลำคอและทรวงอก ทำให้ช่องทางเดินหายใจแคบลง การเคลื่อนไหวของหน้าอกแย่ลง
5. การดื่มสุรา ยาคลายเครียด และยานอนหลับ ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการอ่อนแรง รวมถึงกล้ามเนื้อในลำคอ เกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ง่าย นอกจากนี้แอลกอฮอล์และยายิ่งมีผลกดการทำงานของสมองให้ช้ากว่าปกติ
6. การสูบบุหรี่ ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพแย่ลง
7. กรรมพันธุ์
สังเกตอาการตนเองอย่างไร
บางครั้งผู้ป่วยที่นอนกรน ไม่ทราบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ อาจให้คนนอนข้างๆ สังเกตหรือพิจารณาว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่
1. นอนกรนเสียงดัง
2. รู้สึกนอนไม่เต็มตื่น อ่อนเพลียหลังตื่นนอน ทั้งที่มีเวลานอนเพียงพอ
3. ตื่นนอนตอนเช้ามีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
4. ง่วงนอนบ่อย หรือหลับง่ายในช่วงกลางวัน ขณะทำงานหรือเรียนหนังสือ จนถึงขั้นมีอันตรายเช่นอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถยนต์ (หลับใน) หรืออุบัติเหตุเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ
5. ความคิดการอ่าน ความสามารถในการจดจำลดลง
6. หงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อยกว่าปกติ
7. ในเด็กอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ร่างกายไม่แข็งแรง ปัสสาวะรดที่นอน
แนวทางการรักษา
การรักษาผู้ป่วยนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับแยกได้เป็น ๒ แนวทาง คือ การรักษาโดยไม่ผ่าตัด และการรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโดยไม่ผ่าตัด
1. การควบคุมน้ำหนัก ในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน การพยายามลดน้ำหนักลง มีรายงานทางการแพทย์พบว่า ผู้ป่วยที่ลดน้ำหนักได้ร้อยละ ๗.๘ จะมีอัตราการนอนกรนลดลงถึงร้อยละ ๓๐ ผู้ป่วยนอนกรนที่ลดน้ำหนักตัวลงจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางของระบบทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น นอกจากนั้นหรือในคนอ้วนที่ลดน้ำหนักจะทำให้สุขภาพด้านอื่นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นด้วย
2. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และยากล่อมประสาท แอลกอฮอล์และยากล่อมประสาทเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ในผู้ป่วยที่นอนหลับยากควรเลี่ยงการดื่มสารที่มีกาเฟอีน
3. การนอน ผู้ป่วยที่นอนหงายจะมีอาการกรนและหยุดหายใจ ขณะหลับได้บ่อยกว่านอนตะแคงหรือนอนคว่ำ ในสมัยก่อนมีการใช้ถุงใส่ลูกเทนนิส 3-4 ลูกติดไว้ด้านหลังของเสื้อนอน เพื่อบังคับให้ผู้ที่ใส่นอนตะแคงหรือนอนคว่ำ (sleep ball technique)
4. การใช้เครื่องมือทางทันตกรรม เครื่องมือทางทันตกรรมที่ใช้นี้จะมีลักษณะคล้ายๆ ฟันยางกันกระแทกของนักมวย แต่จะถูกดัดแปลงมาให้ปรับตำแหน่งของขอกรรไกรล่างให้เคลื่อนมาทางด้านหน้ากว่าภาวะปกติ ทำให้บริเวณลิ้นเคลื่อนมาทางด้านหน้าด้วย ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้คือ ลักษณะอาการคอแห้งปากแห้ง มีอาการอักเสบของข้อกราม หรือในรายที่เครื่องมือชำรุด ชิ้นส่วนอาจตกเข้าในปาก ลำคอ หรือเป็นสิ่งแปลกปลอมในหลอดลมได้
5. การใช้เครื่องอัดอากาศเพื่อช่วยหายใจขณะนอนหลับ (CPAP) เป็นวิธีการป้องกันการตีบแคบของช่องลำคอ โดยใช้แรงดันอากาศเป็นตัวถ่างไว้ การใช้ CPAP (continuous positive airway pressure) เป็นการรักษาแบบเร่งด่วนอีกวิธีหนึ่ง