เคล็ดลับป้องกันโรคซึมเศร้ากล้ำกราย
ถ้าเรารู้จักวิธีดูแลสภาพจิตใจของตัวเรา และมีสติรับมือกับความเศร้าในเหตุการณ์ต่างๆ ได้ก็จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ความเศร้าแปรเปลี่ยนเป็นโรคซึมเศร้ามาเยือน ลองปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
1. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายช่วยต้านโรคซึมเศร้าได้ เพราะการออกกำลังกายช่วยเพิ่มระดับสารเคมีเซโรโทนินในสมอง รวมถึงเพิ่มการหลั่งสารเอนดอร์ฟีนที่ช่วยทำให้ผ่อนคลายและอารมณ์ดีขึ้น โดยควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที
2. รู้จักตัวเราเอง
การรู้จักตัวเราเองและยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียจะช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เราผิดหวังเสียใจได้ โดยการเขียนข้อดีและข้อเสียหรือจุดแข็งจุดอ่อน รวมถึงความภาคภูมิใจในตัวเองว่ามีอะไรบ้าง เพื่อการพินิจพิจารณา
3. ระบายความรู้สึก
ต้องเรียนรู้ที่จะหาวิธีปลดปล่อยความรู้สึกเศร้า โกรธ ผิดหวังหรือเสียใจออกมา เพราะอาการซึมเศร้ามักเกิดจากการเก็บกดอารมณ์ความรู้สึกไว้ เราทำได้โดยการพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ ตะโกนหรือร้องไห้ออกมาดังๆ หรือเขียนความรู้สึกลงในสมุดบันทึก
4. สร้างเสียงหัวเราะ
เมื่อรู้สึกทุกข์ ควรพาตัวเองอยู่กับสิ่งที่ทำให้รู้สึกเพลิดเพลิน เช่น ดูภาพยนตร์ตลก หรืออ่านเรื่องขำขันเพื่อช่วยคลายเครียดคลายอารมณ์และลืมสิ่งที่ทุกข์ใจในเวลานั้น
5. ศาสนายึดเหนี่ยว
หากเกิดความทุกข์หาหนทางแก้ไม่พบ ให้เปิดใจเข้าหาธรรมะหรือคำสอนซึ่งทุกศาสนามีแนวทางนำไปสู่การดับทุกข์โศก เป็นหนทางช่วยคลายความยึดมั่น ถือมั่นในจิตใจและเป็นเครื่องป้องกันการคิดสั้น
6. ทำงานอดิเรก
อย่าปล่อยให้ตัวเองอยู่กับความเบื่อหน่าย ลองสำรวจตัวเองว่า เราชอบทำอะไร หรอทำสิ่งใดแล้วมีความสุข เพราะทุกคนย่อมมีสิ่งที่ชอบอย่างน้อยสักอย่าง และนั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราหันเหออกจากอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่ดีได้
7. เวลาท่องเที่ยว
อย่าหมกมุ่นอย่ากับความเครียด ควรหาเวลาชาร์จแบตฯ ให้ร่างกายและจิตใจ ด้วยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไปเที่ยวในที่ธรรมชาติ เช่น ทะเล น้ำตก ภูเขา ฯลฯ จึงช่วยให้เราผ่อนคลายจิตใจได้มาก
8. ฝึกคิดบวก
การมองโลกในแง่ดี ช่วยลดความวิตกกังวล โดยเริ่มจากหัดมองมุมบวกกับผู้อื่นและชื่นชมคนอื่น หากทำได้จะเป็นการเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต
9. อย่าลืมครอบครัวและเพื่อนฝูง
อย่าคิดเอาเองว่าไม่มีใครช่วยคุณได้แม้แต่ครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่คุณไว้ใจ ในเมื่อคุณยังไม่ได้เอ่ยปากกับพวกเขา ลองให้ความไว้วางใจพูดคุยปัญหา อาจจะได้รับฟังความเห็นหรือความช่วยเหลือในแง่มุมที่แตกต่างจากที่เราคิด