ลดเวลานั่ง เพิ่มเวลายืน ยืดเวลาเดิน

Slide33.jpg

คนยุคปัจจุบันมักใช้เวลาอยู่ในภาวะเนือยนิ่งไปกับหน้าจอสี่เหลี่ยม ทั้งการเล่นมือถือ การใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน การนอนดูทีวีที่หน้าโซฟา การดูหนังในโรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่การมีภาวะเนือยนิ่งจากการทำงาน การเรียนหนังสือ และการเดินทางท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ

“พฤติกรรมเนือยนิ่ง” เหล่านี้ กำลังเป็นรูปแบบวิถีชีวิตที่อันตราย จากการสำรวจของกลุ่มตัวอย่างของคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง วันละเกือบ 14 ชั่วโมง ซึ่งไม่นับรวมเวลานอนหลับ จนก่อให้เกิดปัญหาสารพัดโรค ทั้งโรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคอ้วนลงพุง ฯลฯ เป็นคอมโบชุดใหญ่ไฟกระพริบที่เป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนไทยปีละกว่า 10,000 คน

กล่าวได้ว่า การมีพฤติกรรมเนือยนิ่งและการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เป็นเสมือนเพชฌฆาตเงียบที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดของคนสมัยใหม่เลยก็ว่าได้ ! เอาเป็นว่าทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินไปกินข้าวมื้อกลางวันร้านที่ไกลกว่าร้านเจ้าประจำ การเปลี่ยนวิธีเดินทาง แทนที่จะนั่งแท็กซี่ ก็ลองเดินหรือปั่นจักรยานไปแทน แทนที่จะนั่งรถเมล์จนถึงปากซอยบ้านก็ลองลงก่อนถึงจุดหมาย เปลี่ยนจากการซักผ้าด้วยเครื่องมาเป็นการซักด้วยมือ เลิกใช้รีโมทประตูจะได้ลุกไปเปิดปิดเอง เอาของใช้ส่วนตัวไปเก็บบนหลังตู้จะได้ปีนขึ้นลงบ่อยๆ เปลี่ยนมาใช้การเดินขึ้นลงบันไดแทนลิฟต์ ตัดหญ้าเองโดยไม่ต้องจ้างคนมาทำสวน รถติดก็ชวนกันเปิดคลิปยืดเหยียดสนุกๆคลายเครียดได้ หรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ลองชวนคนทั้งครอบครัวมาช่วยกันจัดบ้านโยกย้ายเฟอร์นิเจอร์ นอกจากจะได้เหงื่อแล้ว ยังได้บ้านสวยสะอาดน่าอยู่ขึ้นเป็นของแถมอีกด้วย

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำว่า ถ้าต้องการมีสุขภาพที่ดี ป้องกันโรคไม่ติดต่อทั้งหลายได้ ควรมี “กิจกรรมทางกายระดับปานกลาง” เป็นเวลาอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งสามารถปรับกิจกรรมตามความเหมาะสมของแต่ละคน โดยเราอาจตั้งกฎเหล็กให้ตัวเองว่า อย่างน้อยต้องขอให้ได้ลุกมาขยับให้ได้เหงื่อ ให้เกิดความรู้สึกเหนื่อย ครั้งละ 10 นาทีขึ้นไป ต่อเนื่องกัน และทำเช่นนี้ในทุกๆ วัน หรือทุกครั้งที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองอยู่นิ่งนานเกินไปแล้ว