อาหารเป็นพิษ โรคฮิตที่มาพร้อมกับหน้าร้อน

 
 
 

อาหารเป็นพิษ โรคฮิตที่มาพร้อมกับหน้าร้อน

อาหารเป็นพิษ โรคฮิตที่มักจะมาพร้อมกับหน้าร้อน นั่นเป็นเพราะอากาศที่ร้อนขึ้นหรืออุณหภูมิที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องทำให้เชื้อโรคชนิดต่างๆ เติบโตได้ดีและอาจปนเปื้อนอยู่กับอาหารได้นานขึ้น โดยเฉพาะการปรุงอาหารไม่สุกพอหรือรับประทานอาหารที่ค้างคืนไว้ ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายและเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่ชอบรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ อาหารรสจัด อาหารแช่แข็ง และอาหารกระป๋อง มักจะพบกับอาการอาหารเป็นพิษบ่อยกว่าคนทั่วไป วันนี้เรามาทำความเข้าใจอาการอาหารเป็นพิษให้มากขึ้น เพื่อหาแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย 

อาหารเป็นพิษมีสาเหตุจากอะไร และอาการเป็นอย่างไร ?

สาเหตุของอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่มาจากการรับประทานน้ำหรืออาหารที่ไม่สะอาด โดยมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร นำมาสู่อาการต่างๆ ได้แก่ 

  1. มีอาการถ่ายเหลว เข้าห้องน้ำบ่อย

  2. ปวดท้องแบบบิดๆ 

  3. บางคนอาการรุนแรงจะมีการอาเจียนและท้องร่วงอย่างหนัก 

  4. บางคนอาจมีไข้หรืออ่อนเพลียร่วมด้วย 

  5. คลื่นไส้ อาเจียน

  6. หมดแรง เวียนหัว ร่างกายขาดน้ำ

หากมีอาการอาหารเป็นพิษเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์

  • อาเจียนมาก ถ่ายท้องปริมาณมาก (มากกว่า 8-10 ครั้ง/วัน) ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ หรือดื่มเกลือแร่ได้น้อยจนร่างกายขาดน้ำรุนแรง อ่อนเพลีย หน้ามืด ปัสสาวะออกน้อย หรือไม่มีปัสสาวะเกิน 6 ชั่วโมง

  • ถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือด 

  • มีไข้มากกว่า 38.5 C

  • อาการไม่ทุเลาลงภายใน 48 ชั่วโมง 

  • มีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออาการปวดท้องไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาเบื้องต้น

  • เด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่อายุมากกว่า 70 ปี หรือมีโรคเรื้อรังที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

วิธีการรักษาอาหารเป็นพิษ

หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้ เพราะอาหารเป็นพิษสามารถหายเองได้ภายใน 24 - 48 ชั่วโมง โดยให้รักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น ดื่มน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ รับประทานยาตามอาการ ได้แก่ ยาแก้ปวดท้อง ยาแก้อาเจียน รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง และไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้หากอาการรุนแรงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบเข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลทันที เพราะแพทย์อาจต้องให้น้ำเกลือหรือมีแนวทางในการรักษาเฉพาะทางที่ต่างออกไป

เมนูอาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษ

สำหรับเมนูอาหารที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษมีอยู่หลายชนิด ก่อนรับประทานควรระมัดระวังและเน้นปรุงให้สุกใหม่ สะอาด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากอาหารเหล่านี้ ได้แก่ 

  • เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่ที่ปรุงไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ 

  • อาหารหมักดอง 

  • ผักหรือผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด

  • อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงค้างไว้ในอุณหภูมิห้องอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

  • น้ำดื่มและน้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน นำน้ำแข็งสำหรับแช่น้ำหรืออาหารมารับประทาน

  • อาหารกระป๋องที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น มีรอยรั่ว แตก บุบ บวม หรือขึ้นสนิม

วิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนและหลังเตรียมอาหารดิบทุกชนิด รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการเตรียมอาหารดิบ ไม่ใช้ปะปนกัน เช่น ใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์สดร่วมกับอาหารอื่นโดยไม่ล้าง

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร

  • เลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและดื่มน้ำที่สะอาดผลิตได้มาตรฐาน 

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่ทิ้งไว้ค้างคืน รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และสะอาด ในกรณีอาหารกระป๋องเมื่อเปิดแล้วควรรับประทานให้หมดในครั้งเดียว หรือหากไม่หมดควรเทใส่ภาชนะอื่นที่สะอาดแล้วปิดฝาให้แน่นก่อนเก็บไว้รับประทานมื้อถัดไป

ถึงแม้ว่าโรคอาหารเป็นพิษจะไม่ได้ทำให้ร่างกายเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ก็สามารถสร้างความเสียหายให้ระบบทางเดินอาหารได้ไม่น้อย เพราะการเผลอรับประทานอาหารที่มีเชื้อโรคหรือไวรัสเข้าไปในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอากาศร้อน เชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ ก็ยิ่งเจริญเติบโตได้เร็วขึ้นเช่นกัน การให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและไม่ตามใจปากจนเกินไป จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้

ที่มา : โรงพยาบาลวิมุต